เที่ยวอีสานใต้ เรียนรู้วิถีชีวิตชาวเขมรถิ่นไทย

ดินแดนอีสานใต้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งรวมปราสาทขอม ในอายุระหว่างพุทธศตวรรษ 16-18 กระจายตัวอยู่ทั่วทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ในแต่ละจังหวัดมีไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง ซึ่งในจังหวัดต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาเขมรมาจนถึงสมัยปัจจุบัน หรืออีกชื่อว่า “เขมรถิ่นไทย”

ในบทความนี้ เราขออาสาพาคุณไปศึกษาเส้นทางวัฒนธรรมของเขมรถิ่นไทยในแถบอีสานใต้ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความตระหนักในคุณค่าของมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป

เที่ยวชมปราสาทขอมอายุกว่าหนึ่งพันปี ในจังหวัดศรีสะเกษ ที่ตั้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในอำเภอต่าง ๆ เช่น อุทุมพรพิสัย กันทรลักษณ์ ราษีไศล ห้วยทับทัน เมืองจันทร์ บึงบูรพ์ ไพรบึง ปรางค์กู่ ขุขันธ์ ภูสิงห์ ขุนหาญ และในอำเภอเมือง จากนั้นควรหาโอกาสเข้าร่วมในพิธีงานบุญเดือนสิบหรืองานสารทเขมร เพื่อทำบุญให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เรียกว่า “พิธีแซนโฎนตา” ขนบธรรมเนียมแห่งความกตัญญูของชาวเขมรถิ่นไทยในอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

เที่ยวชมดินแดนแห่งปราสาทขอมในจังหวัดสุรินทร์ รวมถึงเพลิดเพลินกับดนตรีและการละเล่นของชาวเขมรถิ่นไทย เช่น กันตรึม ดนตรีพื้นเมืองที่ท่วงทำนองเกิดจากกลองโทนและซอ คล้าย ๆ เพลงฉ่อย เพลงเรือ หรือลำตัด แต่จะมีความแตกต่างกันที่เนื้อร้อง กันตรึมเป็นภาษาเขมรที่นิยมใช้กันมากในจังหวัดสุรินทร์ มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของชาวสุรินทร์มาตั้งแต่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นงานพิธีมงคลหรืออวมงคล นอกจากนี้ยังมีการละเล่น เรือมอันเร เรือมอายัย (รำอายัย) ฯลฯ

ศึกษาวิถีชีวิตชาวเขมรถิ่นไทยในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีประชากรพูดภาษาเขมรมากที่สุดในอำเภอต่าง ๆ คือ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ กระสัง ประโคนชัย ห้วยราช สตึก พลับพลาชัย บ้านกรวด และละหานทราย ตามรอยอารยธรรมขอมจากโบราณสถาน ปราสาทต่าง ๆ และการละเล่นการแสดงที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตและความเชื่อ ดังเช่นที่อำเภอประโคนชัย มีการแสดงพื้นบ้านในพิธีกรรมรักษาคนไข้เรียกว่า “เรือมปัลโจล” หรือ “รำเทพประทับทรง”, “เรือมตลอก” หรือ “รำกะลา”, “เรือมก็อนเตียล” หรือ “ระบำทอเสื่อ” นอกจากนั้นแล้วยังมีการเล่น “กันตร๊อบเมือน” หรือ “ปรบไก่” และ “ลิเกเขมร” ซึ่งจะหาชมได้ยาก

ของที่ระลึกจากชาวเขมรถิ่นไทย

ผ้าไหมพื้นเมือง ผ้าไหมปูม ภาษาเขมรเรียกว่า “ซัมป๊วดโฮล” และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำมาจากผ้าไหม ผ้าฝ้าย เครื่องเงิน เครื่องจักสานจากหวาย

การเดินทางไปชมชาติพันธุ์เขมรในไทย

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะมีส่วนชักชวนให้มีผู้สนใจไปเยี่ยมเยือนแดนอีสานใต้ และร่วมเรียนรู้วิถีชีวิตของชาติพันธุ์เขมร ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชนชาติไทยมาช้านาน เพื่อเป็นประสบการณ์ในการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่คุณอาจจะนึกไม่ถึงเลยว่าในประเทศไทยยังมีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมซึ่งน่าตื่นตาตื่นใจซ่อนอยู่อีกมาก