เปิดสำรับอาหารประจำท้องถิ่นเมืองชุมพร

อำเภอชุมพรตั้งอยู่ตอนบนสุดของภาคใต้ ถือเป็นประตูสู่ภาคใต้อย่างแท้จริง นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางลงไปยังจังหวัดอื่นของภาคใต้ ทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน ก็จะต้องผ่านจังหวัดนี้ก่อน แต่น้อยคนนักที่จะแวะชื่นชมแหล่งท่องเที่ยวของชุมพรโดยไม่ผ่านเลยไป เพราะชุมพรไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวของภาคใต้

อย่างไรก็ดี ดังเช่นคำขวัญของเมืองชุมพรที่ว่า ประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรมฯ ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก ในความเป็นจริงแล้ว ชุมพรที่เที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นท้องทะเลสีฟ้าคราม หาดทรายขาวเลื่องชื่อที่ยาวนับร้อยกิโลเมตร เกาะแก่งน้อยใหญ่ ไร่กาแฟ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่สักการะบูชาของคนท้องที่ และภูเขาเขียวขจีที่มีงดงามไม่แพ้จังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ และชุมพรยังเป็นดินแดนแห่งผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด กล้วยเล็บมือนาง ลางสาด ลองกอง ระกำ ส้มโชกุน ฯลฯ แถมยังมีกับข้าวท้องถิ่นและของฝากให้เลือกชิมเลือกช็อปอย่างไม่หวาดไม่ไหว

วันนี้เราจะมาเล่าสู่กันฟังถึงกับข้าวท้องถิ่นของชาวชุมพร ต้องบอกเลยว่านอกจากแวะชุมพรเที่ยวแล้ว อย่าลืมแวะชิมอาหารด้วยนะ ส่วนจังหวัดนี้เขามีอาหารอร่อยอะไรที่ควรได้ลองทานสักครั้ง ลองมาติดตามกันดู

กับข้าวของชาวชุมพร

ด้วยความที่ชุมพรอยู่ติดกับชายฝั่ง อาหารหลักของชาวชุมพรจึงหนีไม่พ้นอาหารทะเล ซึ่งมีวิธีปรุงอาหารคล้าย ๆ ภาคกลาง คือไม่เน้นความเผ็ดจัดจ้านมากนัก แต่ก็ไม่หนีไปจากรสชาติความเป็นอาหารปักษ์ใต้ และเน้นใช้ผักพื้นบ้านมาประกอบอาหารเช่นเดียวกับอาหารใต้ทั่วไป เมนูขึ้นชื่อของชาวชุมพรมีดังนี้

ปลาหมึกต้มหวาน ทะเลชุมพรมีปลาหมึกกล้วยชุกชุมตลอดทั้งปี จึงนิยมนำปลาหมึกกล้วยสดมาต้มหวาน โดยนำมาล้างน้ำสะอาด ควักขี้ออกจนหมด จากนั้นตั้งน้ำสะอาดให้เดือด ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บและหอมแดง เพิ่มความหวานด้วยหอมแดงทุบ พอรสชาติเข้าที่แล้วถึงจะใส่ปลาหมึกที่บั้งแล้วลงไป เคี่ยวพอสุกประมาณ 5 นาทีแล้วยกลง ปลาหมึกจะไม่แข็งหรือเหนียวเกินไป

หลนไตปลา ที่ชุมพรมีปลาทูมากพอ ๆ กับสัตว์น้ำชนิดอื่น ชาวบ้านจึงนิยมควักเครื่องในปลาทู ที่เรียกว่าขี้ปลาหรือไตปลา มาหมักเกลือเก็บไว้ในขวดโหลประมาณ 1 เดือน แล้วจึงนำมาเคี่ยวกับกะทิจนแห้งขลุกขลิก ปรุงรสให้ออกเปรี้ยวหวาน และแต่งกลิ่นให้หอมด้วยใบมะกรูด เสิร์ฟพร้อมผักสดเป็นเครื่องแนม

ปลาส้มปลากระบอกกับใบชะมวงอ่อน ใช้ปลากระบอกเป็นวัตถุดิบหลัก เครื่องแกรงประกอบด้วยพริกแห้ง ขมิ้น เกลือป่น หอมแดง และกะปิ นำมาโขลกรวมกัน สูตรพื้นบ้านนิยมใช้ข้าวสารใส่ลงไปเล็กน้อยพื่อให้น้ำแกงข้น

ใบเหลียงผัดไข่ ใบเหลียงเป็นผักพื้นบ้านยอดนิยม ไม่ใช่แค่นำมาผัดไข่เท่านั้น ยังสามารถนำมาต้มกะทิ ทำแกงเลียง ผัดใส่หมู ใส่ห่อหมก หรือจิ้มน้ำพริกก็ได้

เคยคั่ว ซึ่งก็คือกะปิคั่วนั่นเอง โดยใช้เครื่องเทศและสมุนไพรต่างๆ อย่างตะไคร้ หอมแดง ข่าอ่อน มาโขลกรวมกับกะปิและกุ้งสด ก่อนจะตั้งหม้อเคี่ยวหัวกะทิจนแตกมัน แล้วนำเครื่องโขลกที่เตรียมไว้ลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน

แกงเคยเกลือ ปรุงคล้ายกับแกงเลียงของภาคกลาง โดยนำหอมแดง พริกไทย กระชายมาโขกรวมกัน ผสมกะปิและนำกุ้งสดมาโขลกรวมด้วย เพื่อให้น้ำซุปหวาน จากนั้นปรุงรสให้ได้ที่ แล้วใส่ผักหลายชนิดลงไป เช่น ผักหวาน บวบ แตงกวา ข้าวโพดอ่อน ตำลึง ถั่วผักยาว เป็นต้น พอผักสุกแล้วใส่ใบแมงลักแล้วยกลงทันที

แกงเนื้อย่างหัวตาลอ่อน เป็นแกงเผ็ดเนื้อที่ใช้ลูกตาลอ่อนเป็นส่วนประกอบพิเศษ แต่เมนูนี้หาชิมได้ไม่ง่ายนัก เพราะเป็นเมนูพื้นบ้านอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่นิยมทำกินกันแค่ในครัวเรือน

แกงหมูกล้วยดิบ แกงกะทิที่มีเนื้อหมูและกล้วยดิบเป็นส่วนประกอบหลัก รสชาติคล้ายแกงเผ็ดของภาคกลาง แต่ใช้ใบส้มแป้นและพริกชี้ฟ้าแต่งหน้า

ยำสาหร่าย ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ยำหร้าย” ชาวบ้านมักจะเก็บสาหร่ายที่ถูกคลื่นซัดเข้ามาตามชายฝั่งมาลวกในน้ำเดือดให้สุก จากนั้นหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปยำด้วยพริกแห้งคั่ว หอมแดงเผา กระเทียมโขลก และกะปิย่าง ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียกและน้ำตาลปี๊บ เพิ่มรสสัมผัสที่แปลกใหม่ด้วยมะพร้าวคั่ว นิยมใส่ปลาย่าง กุ้งลวก หรือปลาหมึกลวกลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติ

ข้าวเหนียวอุบ เป็นขนมทานเล่นจากสมัยโบราณที่คนพื้นบ้านยังคงนิยมทำกินกันอยู่ รสชาติหวานมันกลมกล่อมด้วยน้ำกะทิ ข้าวเหนียวผ่านการอุบจนมีรอยเกรียมเล็กน้อย เหนียวนุ่มและมีกลิ่นหอมจากการอุบเตาถ่าน บางทีจะนำใบตองรองก้นกระทะเวลาอุบ ช่วยให้มีกลิ่นหอมมากขึ้น

แม้กับข้าวพื้นบ้านบางอย่างของชาวชุมพรจะหาทานไม่ได้ง่ายนัก แต่ก็มีร้านอาหารที่ขายอาหารพื้นเมืองอยู่หลายร้าน หรือหากคุณมีคนรู้จักเป็นคนท้องที่ จะวานให้เขาทำกับข้าวให้ทานก็ได้นะ รับรองว่าชาวชุมพรยินดีแสดงฝีมือการทำอาหาร ด้วยวัตถุดิบสดใหม่จากท้องทะเลทุกอย่างโดยไม่เกี่ยงอย่างแน่นอน